สมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมวิชาชีพของครู อาจารย์ นักการศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ของไทย เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการและวิชาชีพครูนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยให้ก้าวไปพร้อมกับสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ให้ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีไทยมีศักดิ์ศรีสมกับเป็นครูมาตรฐานวิชาชีพขั้นสูง
ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียนครั้งที่ 1 (วทร.1) ที่จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) วันที่ 26 – 28 มีนาคม พ.ศ.2533 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยมีครูผู้สอนวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาวิทยาศาสตร์เข้าร่วมประชุมประมาณ 600 คน ในระหว่างการประชุมผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอความคิดเห็นเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้งสมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งกลางสำหรับการประสานงานและพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ของครูวิทยาศาสตร์ ตลอดจนจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูวิทยาศาสตร์ โดยขอให้ สสวท. เป็นผู้ดำเนินการขอจัดตั้งสมาคมตามระเบียบ
คณะผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้แก่ ดร.เฉลียว มณีเลิศ ผู้อำนวยการ สสวท. ดร.ธงชัย ชิวปรีชา รองผู้อำนวยการ สสวท. และนายสุรพล ไชยเสนา หัวหน้าสำนักงานบริการกลาง สสวท. สมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2534 โดยใช้ชื่อว่า “สมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย” อักษรย่อคือ “สควท” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Science Teacher Association of Thailand” อักษรย่อ คือ “STAT” มี ดร.เฉลียว มณีเลิศ เป็นนายกสมาคมคนแรก นับจากวันเริ่มแรกของการจัดตั้งสมาคม มีคณะกรรมการที่ปรึกษา กรรมการบริหารของสมาคมได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวิชาการ เช่น การจัดประชุมปฏิบัติการ การเสวนาวิชาการ การนำสมาชิกไปร่วมประชุมศึกษาดูงานด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ สมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้มีความก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับถึงปัจจุบัน
เนื่องจากจุดเริ่มของสมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยมาจากการประชุมวิชาการที่จัดโดย สสวท. ประกอบกับกิจกรรมวิชาการที่สมาคมจัดให้สมาชิกสอดคล้องกับพันธกิจหลักด้านการพัฒนาครูของ สสวท. ผู้อำนวยการ สสวท. และที่ปรึกษาสมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร) จึงมีดำริว่าสมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยควรขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมกลุ่มครูคณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ในกลุ่มเป้าหมายหลักของ สสวท. นางดวงสมร คล่องสารา (นายกสมาคม) และคณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณาเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อครูเพิ่มขึ้น จึงมอบหมายให้คณะกรรมการและที่ปรึกษากฎหมายดำเนินการเปลี่ยนชื่อสมาคมและข้อบังคับของสมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2554 ของสมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย วันที่ 30 เมษายน 2554 ณ ห้องประชุมนิดา สะเพียรชัย อาคาร 15 ปี สสวท. และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ จากนั้นสมาคมได้ดำเนินการจนได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 20 ตุลาคม 2554 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นสมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย อักษรย่อคือ “สวคท” และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Science Mathematics and Technology Teachers Association of Thailand” อักษรย่อคือ “SMTAT”
มี 2 แบบ คือ แบบภาษาไทย และแบบภาษาอังกฤษ ดังนี้
แบบภาษาไทย เป็นรูปตัวอักษร สวคท ขนาดใหญ่ และมีข้อความ “สมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย” กำกับอยู่ด้านบน
แบบภาษาอังกฤษ เป็นตัวอักษร SMTAT ขนาดใหญ่ และมีข้อความ “Science Mathematics and Technology Teachers Association of Thailand” กำกับอยู่ด้านบน SMTAT
เป็นศูนย์กลางสำหรับการจัดกิจกรรมทางวิชาการ รวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และผลงานของสมาชิกเพื่อยกระดับมาตรฐาน วิชาชีพการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
เป็นศูนย์กลางติดต่อประสานงาน และให้ความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งใน และต่างประเทศ ในด้านที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนและการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนและการจัดการศึกษาด้าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย และประดิษฐ์คิดค้นที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนและการจัดการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
ส่งเสริมความสามัคคี และสวัสดิการของสมาชิก
การจัดประชุมปฏิบัติการ
การจัดประชุมวิชาการ
การจัดเสวนาทางวิชาการ
การจัดทำวารสาร สวคท
การจัดทำเอกสารวิชาการและสื่อการเรียนการสอน
การร่วมประชุมวิชาการ
การศึกษาดูงานในและต่างประเทศ